ที่มา: http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000053701
ช้างวาดรูปเป็นงานศิลปะหรือไม่?/ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ
 |
 |
ขอบคุณภาพจากวิชาการดอทคอม | |
 |
 | คงมีหลายท่านเคยไปเที่ยวชมการแสดงของช้าง และคงเคยเห็นช้างวาดรูปออกเป็นภาพดอกไม้ ต้นไม้ที่สวยงาม ท่านคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์หรือไม่? หลายท่านบอกว่า กว่าช้างแต่ละเชือก จะวาดรูปออกมาได้ ต้องผ่านการฝึกอย่างมากมาย หากท่านสังเกตช้างตัวที่เชื่องที่ท่านเคยนั่งขี่เล่น จะมีรอยแผลเป็นของตะขอที่ใช้สำหรับการฝึก ช้างแต่ละเชือกต้องผ่านทั้งเลือดและน้ำตา ภาพที่วาดออกมาหากสังเกตดีๆ ควาญช้างจะเป็นผู้จับงวงช้างในการจับพู่กันสำหรับวาดภาพ ซึ่งภาพที่ช้างวาดออกมามักเหมือนกัน หรือคล้ายกัน และก็มีบางครั้งอาจประมูลได้ราคางามๆ อีกด้วย ท่านคิดว่า ผลงานภาพวาดจากช้างเป็นงานศิลปะที่สร้างสรรค์หรือไม่ แล้วงานศิลปะที่สร้างสรรค์ที่แท้จริงคืออะไร หากจะให้ความหมายของศิลปะอาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก หลายท่านกล่าวว่างานศิลปะ คือ งานสร้างสรรค์ที่ผู้สร้างสรรค์ใช้จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ถ่ายทอดสิ่งที่สะท้อนความคิด จิตใจ จิตวิญญาณของตัวเองออกมาเป็นผลงาน สำหรับเด็กแล้วงานศิลปะถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก กล่าวคือ 1.ด้านร่างกาย เด็กจะมีโอกาสฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและตาให้ทำงานอย่างประสานกัน ได้มีโอกาสฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็ก และการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่างๆ 2.ด้านอารมณ์ เด็กจะเพิ่มคุณค่าในตัวเอง (Self Esteem) และความเชื่อมั่น (Confidence) ชื่นชมและยอมรับในผลงานของตัวเองและคนอื่น มีความสุข (Happiness) มีสุนทรียศาสตร์ สร้างความรัก ความรับผิดชอบ (Responsibility) และ วินัย (Discipline) 3.ด้านสังคม ได้ฝึกการปรับตัว การทำงานร่วมกัน ลดการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Child Center) เรียนรู้จักการแบ่งปัน (Sharing) 4.ด้านสติปัญญา ได้รู้จักการแก้ปัญหา มีจินตนาการ (Imagination) ความคิดสร้างสรรค์ (Creative) ทำงานโดยมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เป็นระบบ มีทักษะการสังเกต การเปรียบเทียบ การคำนวณ การสื่อความหมาย ใช้ทักษะด้านมิติสัมพันธ์ พัฒนาทั้งด้านภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น ประเภทของงานศิลปะจะมีหลายอย่าง เช่น ลายเส้น รูปทรง การทดลองเกี่ยวกับสี การทำภาพพิมพ์ การปั้น การตัด การพับ ฉีก ปะ การประดิษฐ์ เป็นต้น ซึ่งงานศิลปะเหล่านี้จะช่วยเรื่องความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาการของเด็ก ทั้งยังบอกถึงวุฒิภาวะ การสื่อสาร อารมณ์ และความเป็นคนพิเศษของเจ้าของผลงาน จากหนังสือเรื่องคุยกับลูกเรื่องงานศิลปะ ของ Schirrmacher, Robert, ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับเด็กกล่าวว่าเราอาจทำลายความคิดสร้างสรรค์จากงานศิลปะได้ดังนี้ 1.การให้เด็กทำงานศิลปะในกรอบ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูปหรือตัดปะ เด็กไม่สามารถปรับเปลี่ยนตามจินตนาการที่ตนต้องการได้ เพราะถูกกำจัดโดยขอบเขตที่วางไว้ ดังนั้น การวางรูปตามแบบฝึกหัด หรือใบงานที่แจกให้ทำตามหน่วยการสอนบางอย่างของครู จึงจำกัดความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก 2.การให้รางวัล การแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ดาว หรือ สติกเกอร์ หรือการให้คะแนนถือเป็นความคาดหวังจากงานศิลปะของเด็กที่ไม่ควรทำ เพราะเด็กจะทำงานศิลปะเพื่อการได้รับรางวัล มากกว่าการสื่อสารความรู้สึกส่วนตัวออกมา เด็กจะกลัวว่าผลงานของตนจะไม่สวยงาม หรือดีพอ สำหรับครูที่ให้คะแนน ไม่กล้าแสดงความเป็นตัวตนของตนเองออกมา มีการเปรียบเทียบ แข่งขัน มีถูกมีผิด มีดาวมาก ดาวน้อย แต่แท้ที่จริงแล้วงานศิลปะของเด็กแต่ละคนมีความสวยงามและคุณค่าตามแบบเฉพาะของแต่ละบุคคล 3.การวางรูปให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง เพราะเด็กจะมีความรู้สึกว่าต้องทำให้เหมือนภาพที่วาด เพื่อให้เป็นที่พอใจของครู หรือ พี่เลี้ยง หรือคุณพ่อคุณแม่ เด็กไม่สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกของตัวเองได้ และกลัวว่าจะทำให้คนอื่นผิดหวัง เด็กจะหมดคุณค่าในตัวเอง 4.ช่วยทำให้ ช่วยแก้ปัญหาให้ เมื่อเด็กทำไม่ได้ ผู้ใหญ่จะเป็นคนตัดสินทำให้ เด็กจะขาดความอดทน ไม่รู้จักการแก้ปัญหา และรู้สึกว่าผลงานนั้นไม่ได้เป็นของตน เลิกทำง่ายๆ ในครั้งต่อไป และไม่สนุกกับงานศิลปะ 5.คำนึงถึงผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ บางครั้งผู้ใหญ่ต้องการความเรียบร้อย สวยงาม ต้องการให้ผลงานศิลปะของเด็กออกมาสวยสมบูรณ์แบบ แต่หารู้ไม่ว่ากระบวนการคิดของเด็กจะถูกกำจัดออกไปอย่างน่าเสียดาย และถือว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิของคนอื่นด้วย แม้ว่าจะเป็นเด็กก็ตาม งานศิลปะเป็นงานที่บอกความเป็นตัวตนของเรา บอกถึงวัฒนธรรมความเป็นชาติ บอกถึงความคิด จิตใจ จิตวิญญาณ เมื่อถามคนไทยให้วาดรูป ไม่ว่าจะเป็นกี่ยุค กี่สมัย คนไทยส่วนใหญ่วาดเป็นภูเขาสองลูก มีพระอาทิตย์ตรงกลาง มีบ้าน ต้นมะพร้าว ปลา และบางครั้งอาจดีหน่อย คือ มีเรือใบและปลาแถมมาด้วย ทำให้คิดว่าความคิดของคนไทยมีจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์จริงหรือ? จะแตกต่างอะไรกับภาพวาดดอกไม้ของช้างที่มีควาญช้างจับงวงหรือไม่ ไม่ทราบผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร สามารถแสดงความคิดเห็นได้ค่ะ
| |